รู้เท่าเข้าถึงยุค 3 จี เทคโนโลยีคลื่นที่ 3

รู้เท่าเข้าถึงยุค 3 จี เทคโนโลยีคลื่นที่ 3
ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ถึงยุคเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาต หลังจากกสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ได้ออกใบอนุญาตระยะเวลา 15 ปี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมทั้ง 3 ราย คือ เอไอเอส, ดีแทค และ กลุ่มทรู
เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านเช่นเดียวกันจากระบบอะนาล็อก สู่ยุคดิจิตอลยุค 2 จี, 2.5 จี และ 2.75 จี ก้าวสู่ยุคที่ 3 คือ ยุค 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์

ประวัติความเป็นมาของ 3 จี
ยุคที่หนึ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นยุคอะนาล็อก ใช้สัญญาณวิทยุในการส่งคลื่นเสียง โดยไม่รองรับการส่งผ่านข้อมูลใดๆทั้งสิ้น โทรศัพท์ในยุคนั้นใช้งานทางด้านเสียงหรือ Voice ได้อย่างเดียว คือ โทร.ออก-รับสาย เท่านั้น ไม่มีการรองรับการใช้งานด้าน Data (ข้อมูล)
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการ และได้ให้สัมปทานคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา นอกจากนี้ยังมีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TAC เริ่มดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ แอมป์ ย่านความถี่ 800 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งได้รับสัมปทานจาก กสท ในปี 2534 โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี
ยุคที่สอง หรือ 2 จี เป็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากการส่งคลื่นทางคลื่นวิทยุแบบอะนาล็อกมาเป็นการเข้ารหัส ดิจิตอล ส่งคลื่นความถี่ผ่านไมโครเวฟ ซึ่งในยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นยุคที่กำลังพัฒนาการจำกัดเฉพาะทางด้านเสียงก้าวสู่การใช้งานทางด้านข้อมูล หรือ Data
ในปี 2544 เป็นยุคที่กลุ่มทรู เข้ามาเทกโอเวอร์คลื่นความถี่ 1800 จาก ดับบลิวซีเอส หลังจากนั้นร่วมทุนกับออเร้นจ์ เอสเอ จากประเทศอังกฤษ (หมายเหตุ: ออเร้นจ์ เอสเอ ได้ขายหุ้นทั้งหมดออกแล้ว) และ เปิดให้บริการในปี 2544
ธุรกิจโทรศัพท์มือถือเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 2545 กิจการร่วมการค้าไทยโมบาย ได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ กสท กับ ทีโอที โดยเปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ GSM ความถี่ 1900 เมกะเฮิรตซ์ มีพื้นที่ให้บริการเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ก็สามารถนำไปใช้งานต่างจังหวัดได้ ต่อมา ปี 2551 ทีโอทีได้ไปซื้อหุ้นในส่วนของ กสท เพื่อมาบริหารเอง และ กสท เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ซีดีเอ็มเอ ภายใต้ชื่อแบรนด์ "MY"

อย่างไรก็ตามในยุค 2.5 จี และ 2.75 จี เป็นยุคก้ำกึ่งระหว่างเทคโนโลยี 2 จี และเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ซึ่งในยุคนี้ เป็นยุคที่กำเนิดเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) สามารถส่งข้อมูลได้ที่ความเร็วสูงสุดถึง 115 กิกะไบต์
ยุคที่สามปี 2556 ถือว่าเป็นยุคเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีของประเทศไทย ในขณะที่ทุกประเทศเปิดให้บริการแล้วในย่านนี้เหลือแต่ประเทศไทยเพียงรายเดียวเท่านั้น ซึ่งปลายปี 2555 ที่ผ่านมา กสทช.ได้เปิดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์ ใบอนุญาต 15 ปี โดยมีผู้ชนะประมูลในครั้งนี้ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับเอ็น ในกลุ่มเอไอเอส, บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ ดีทีเอ็น ในเครือบริษัทดีแทคฯ และ บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในกลุ่มทรู อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีประมาณกลางปี 2556 ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัท ทรูมูฟ เอช จำกัด ในกลุ่มทรู ได้เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จี ย่านความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เช่นเดียวกับ ดีแทค ที่ได้คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ จาก กสท(บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)) ไปดำเนินการก่อนหน้านี้
ในยุค 3 จี บรรดาผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมเตรียมถ่ายโอนลูกค้าจาก 2 จี ไปสู่ 3 จี โดยเอไอเอส มีจำนวนลูกค้า 36 ล้านราย , ขณะที่ ดีแทค มีจำนวนลูกค้า 26 ล้านราย และ ทรูมูฟ มีลูกค้าอยู่ 20 ล้านราย
3 จี คืออะไร?
3G หรือ Third Generation เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 เป็นอุปกรณ์ที่ผสมผสาน การนำเสนอข้อมูล และ เทคโนโลยี ในปัจจุบันเข้าด้วยกันใช้บริการมัลติมีเดีย และ ส่งผ่านข้อมูลในระบบไร้สายด้วยอัตราความเร็วที่สูงขึ้น
รูปแบบการทำงานของ 3 จี ช่องสัญญาณความถี่ และ ความจุในการรับส่งข้อมูลที่มากกว่า ทำให้ประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลแอพพลิเคชัน รวมทั้งบริการระบบเสียงดีขึ้น สามารถใช้ บริการมัลติมีเดียได้เต็มที่ และ สมบูรณ์แบบขึ้น บริการส่งแฟกซ์, โทรศัพท์ต่างประเทศ, รับ-ส่งข้อความที่มีขนาดใหญ่,ประชุมทางไกลผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสาร, ดาวน์โหลดเพลง, ชมภาพยนตร์แบบสั้นๆ
โทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3จี ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่าสามารถรับส่งข้อมูลในความเร็วสูง ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้ อย่างรวดเร็ว และ มีรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น สามารถให้บริการระบบเสียง และ แอพพลิเคชันรูปแบบใหม่ เช่น จอแสดงภาพสี, เครื่องเล่น mp3, เครื่องเล่นวิดีโอ การดาวน์โหลดเกม, แสดงกราฟิก และ การแสดงแผนที่ตั้งต่างๆ ทำให้การสื่อสารเป็นแบบอินเตอร์แอกทีฟ ทำให้การใช้งานคล่องตัวมากขึ้นโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เปรียบเสมือน คอมพิวเตอร์แบบพกพา ,วิทยุส่วนตัว และแม้แต่กล้องถ่ายรูป
ผู้ใช้สามารถเช็คข้อมูลใน account ส่วนตัว เพื่อใช้บริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น self-care (ตรวจสอบค่าใช้บริการ), แก้ไขข้อมูลส่วนตัว ใช้บริการข้อมูลต่างๆ เช่น ข่าวเกาะติดสถานการณ์, ข่าวบันเทิง, ข้อมูลด้านการเงิน, ข้อมูลการท่องเที่ยว และ ตารางนัดหมายส่วนตัว
คุณสมบัติหลักของ 3 จี คือ มีการเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของ 3 จี ตลอดเวลาที่เราเปิดเครื่องโทรศัพท์ (always on) ไม่จำเป็นต้องต่อโทรศัพท์เข้าเครือข่าย และ log-in ทุกครั้งเพื่อใช้บริการรับส่งข้อมูล การเสียค่าบริการ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเรียกใช้ข้อมูลผ่านเครือข่ายเท่านั้น โดยจะต่างจากระบบทั่วไป ที่จะเสียค่าบริการตั้งแต่เราล็อกอินเข้าในระบบเครือข่าย
จุดเด่นของ 3 จี
1. สามารถรับ - ส่งข้อมูลแบบไร้สาย ผ่านโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์ไร้สายความเร็วสูง
2. เพิ่มประสิทธิภาพในส่งของการรับส่งข้อมูลจากเดิมให้เร็วขึ้น
3. เน้นการติดต่ออย่างสมบูรณ์แบบ เช่น call conference, ประชุมทางไกล, การดาวน์โหลดภาพ เสียง clip Video เพลง ภาพยนตร์ หรือ Application ต่างๆ
4. การแสดงภาพแบบ 3D หรือการติดต่อเชื่อมโยงต่างๆแบบ interactive สมจริงมากยิ่งขึ้น
บริการ 3 จี มีให้อะไรบ้าง
1. Internet ความเร็วสูง - รองรับการรับ-ส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงได้ถึง 7,200 กิกะไบต์
2. VDO Call – การโทร.ออกเป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียง
3. Video Sharing – ดูภาพวิดีโอแบบสดๆ ที่ถ่ายทอด หรือจะเป็น Clip Video ได้ในขณะที่ใช้สาย
4. Data Transfer - ความเร็วในการที่จะ Transfer ข้อมูล
5. TV on Mobile - ดูทีวีบนมือถือสด
บทวิเคราะห์ 3 จี
ในมุมมองของภาคเอกชน
ภาคเอกชนโดยทั่วไป
จากกระแสโลกในปัจจุบันนี้ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเดิมที่เคยใช้โทรศัพท์มือถือปกติธรรมดา ก็ต้องเปลี่ยนเป็น Smart Phone แล้วบางคนยังพกถึง 2 เครื่อง
ซึ่งแน่นอนก็จะส่งผลให้ “สินค้าที่ขาย” ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย สินค้าประเภท Accessory สินค้าประเภท Gadget ก็จะขายดีขึ้นตามไปด้วย เพราะคนหนึ่งคนมีมากกว่าหนึ่งชิ้น
รวมถึง “รูปแบบการขายสินค้า” ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร โดยแนวโน้มที่มีมากขึ้น คือ การซื้อขายผ่านเวปไซด์ หรือที่เราเรียกว่า E-commerce
สุดท้าย “การตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า” ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการโฆษณาบนเวปไซด์, การโฆษณาบน Social Media ต่าง ๆ หรือรวมถึงรูปแบบการประชาสัมพันธ์ เช่น จากเดิมเป็นป้ายสแตนด์ตั้ง ก็เปลี่ยนเป็นป้ายแบบมัลติมีเดียทั้งหมด
จะเห็นได้ว่าการก้าวเข้าสู่ยุด 3 จี ทางภาคชนต่างก็ได้รับผลกระทบในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น “สินค้าที่ขาย”, “รูปแบบการขาย” และ “การตลาดและการประชาสัมพันธ์” ซึ่งภาคเอกชนจะต้องมีการปรับตัวในทุกรูปแบบและจะต้องเป็นการปรับตัวที่รวดเร็วให้ทันกับสถานการณ์ และเท่าทันการปรับตัวของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ประเภท บริษัทที่จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์เสริม
ตลาดโทรศัพท์มือถือ ในปี 2556 มีแนวโน้มเติบโตขึ้น ซึ่งจากเดิมความต้องการในตลาดของปี 2555 อยู่ที่ 15 ล้านเครื่อง คาดว่าปี 2556 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20 ล้านเครื่อง ซึ่งปัจจัยหลักก็ยังคงเป็นเรื่องของการเปิดให้บริการ 3 จี ในปีนี้ เป็นตัวเร่งให้ตลาดมีการเติบโต และรวมถึงปัจจัยรองคือเรื่องของการขึ้นค่าแรงวันละ 300 บาท จะทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้จะส่งผลให้สัดส่วนทางการตลาด (Market Share) ของตลาด Smart Phone ในปีนี้เพิ่มเป็น 65% ส่วนที่เหลืออีก 35% จะเป็นของโทรศัพท์มือถือแบบพื้นฐาน
บางบริษัทเอกชน เช่น “เจมาร์ท” ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ และ อุปกรณ์เสริม วางเป้าหมายการเติบโตทางด้านรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น ถึง 40% พร้อมทั้งเตรียมทุ่มงบประมาณการลงทุนทางด้านต่าง ๆ กว่า 400 ล้านบาท เช่น การขยายสาขาใหม่เพิ่มอีก 60 สาขา เป็นต้น
ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ประเภท บริษัทธุรกิจมีเดียออนไลน์
เนื่องจากเทรนการใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าแบรนด์ต่าง ๆ หันมามองช่องทางนี้ในการทำการตลาดหรือประชาสัมพันธ์สินค้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้การให้บริการ 3 จี เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการตอกย้ำและขับเคลื่อนตลาดดิจิตอลมีเดีย ซึ่งในปี 2556 มีแนวโน้มโตอย่างน้อย 30-40% จากมูลค่าเดิมกว่า 2 พันล้านบาท อาจจะมีสิทธิ์เพิ่มถึงมูลค่า 4.5 พันล้านบาท และถ้าเปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดโฆษณา (Market Share) ที่มีมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาทนั้น โฆษณาออนไลน์คิดเป็นเพียงแค่ 4% เท่านั้น
บางบริษัทเอกชน เช่น “ท้อปสเปซ” ผู้ดูแลพื้นที่โฆษณาเว็ปไซต์สนุกดอทคอม เปิดเผยถึงรูปแบบการโฆษณาออนไลน์ พบว่า 99% เป็นการโฆษณาบนเว็ปไซต์ และ 1% เป็นการโฆษณาบนสมาร์ทดีไวซ์ สามารถเหตุที่การโฆษณาบนสมาร์ทดีไวซ์ยังมีอัตราส่วนน้อยเนื่องจากปีที่ผ่านมา 3 จี ยังไม่ได้เปิดใช้งาน แต่ในปีนี้พร้อมเปิดใช้ในไตรมาสที่ 2 เป็นโอกาสที่สินค้าจะให้ความสนใจดันโฆษณาบนมือถือเพิ่มสัดส่วนของการโฆษณาออนไลน์มากขึ้น
รูปแบบการโฆษณาออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ที่ทางบริษัทท้อปสเปซ จะเน้นหนักในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
1. VDO Pre-Roll คือการใช้คลิปวีดีโอโฆษณาสั้น ๆ ก่อนที่เว็ปไซต์หลักจะเปิดหรือคลิปที่ต้องการจะเริ่ม
2. Banner คือการติดโฆษณาบนพี้นที่เว็ปไซต์ทั่วไป
กลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจทำโฆษณาออนไลน์มากที่สุด 3 อันดับ
1. Consumer Product กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค
2. Automotive กลุ่มยานยนต์
3. IT Gadgets สินค้าไอที
ในมุมมองของนักลงทุน
นักลงทุนในหลายประเทศ มองว่าธุรกิจไอซีทีในประเทศไทย จะกลับมาคึกคักมากขึ้นอีกแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโทรคมนาคม เพราะประเทศไทยกำลังจะเปิดให้บริการ 3 จี แบบเต็มรูปแบบ และอาจจะทำให้ยอดการขายสมาร์ทโฟนในไทยเพิ่มขึ้นจนมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์มือถือทั้งหมดก็เป็นได้ นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบการและผู้บริหารจัดการคลื่นความถี่ยังมีโครงการเร่งผลักดันให้เกิด 4 จี ขึ้นในอีกไม่นานนี้
“ นายฟูมิโอะ อิวาซากิ “ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส “ เอ็นทีที โคโดโม “ ให้ความเห็นว่า ตลาดในประเทศไทยค่อนข้างน่าสนใจ เพราะผู้บริโภค และ ผู้ประกอบการมีความพร้อมในระดับหนึ่ง จึงได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างแน่นอน สำหรับบริษัทเองหากจะเข้ามาลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ให้รอบคอบ เพื่อหาเหตุผล และแนวทางในการดำเนินธุรกิจ เช่น เข้าไปซื้อหุ้น, ร่วมทุนเปิดบริษัทพาร์ตเนอร์ในประเทศ หรือเข้าไปเทคโอเวอร์ ที่ผ่านมาก็เข้าไปลงทุนในหลายประเทศ และที่ลงทุนหลัก ๆ คือเรื่อง ดาต้าและคอนเท้นต์ต่าง ๆ
“ วิชัย เบญจรงคกุล “ นายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เอ็นทีที โคโดโม เคยเข้ามาพูดคุยกับบริษัทในไทย เพื่อเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยอย่างจริงจัง แต่ที่ยังไม่เข้ามาอาจเพราะกฏหมายบางเรื่อง โดยเฉพาะกับกฏเรื่องต่างชาติ ดังนั้นการจะเปิดโลกโทรคมนาคมไทยให้ไปไกลกว่านี้จำเป็นต้องทบทวนเรื่องเก่า ๆ และนำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือกัน ไม่ใช่จมอยู่กับเรื่องเดิม ๆ
ในมุมมองของบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม
"แพร" พิมพิศา จิราธิวัฒน์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เซเลบรุ่นใหม่พี่สาวของ "พีช" พชร จิราธิวัฒน์ เล่าว่า ปกติแล้วจะต้องพกไอโฟน และแมคบุ๊กติดตัวเสมอ เวลาออกจากบ้าน ไม่ว่าจะไปเรียนหรือเที่ยวกับเพื่อน ส่วนมากจะใช้แมคบุ๊กสำหรับเรื่องการเรียน เช่น ทำโปรแกรม ทรีดี หรือตัดต่อต่างๆ ขณะที่ไอโฟน แพรมักจะใช้เล่นอินเตอร์เน็ต ถ่ายรูปลงอินสตาแกรมบ้าง และด้วยความเป็นคนชอบทานอาหาร และขนมร้านใหม่ๆ แผนที่ในโทรศัพท์ก็จะช่วยได้มาก นอกจากนี้ คุณแพรยังใช้โทรศัพท์สื่อสารกับลูกค้าจากร้านค้าออนไลน์ที่คุณแพรเปิดขายเครื่องสำอางกับพี่ที่สนิทได้อีกทางหนึ่งด้วย
แม้จะใช้ชีวิตอยู่บนโลกดิจิตอลเป็นส่วนใหญ่ และยอมรับว่า หากวันหนึ่งไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกพวกนี้ใช้ ก็คงลำบากและกระทบกับชีวิตประจำวันบ้าง แต่ก็คงต้องอยู่ให้ได้ ไม่มีไม่เป็นไร "ทุกวันนี้ก็จะใช้อย่างมีลิมิตอยู่แล้ว แม้จะเล่นทุกวันแต่กลับบ้านก็จะไม่เล่น ควบคุมตัวเองได้ คิดว่าหลายคนก็คงเป็นเช่นเดียวกัน"
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และ 3 จี
สิ่งที่จะพบมากขึ้นเมื่อประเทศไทยมี 3 จี คือ การใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก และยากต่อการคาดเดา การเรียนรู้และติดตามข่าวสารเพื่อพัฒนาตนเองตลอดเวลา ทั้งเรื่องเทคโนโลยีของอุปกรณ์และเทรนด์ผู้บริโภคว่าเดินหน้าไปทางไหน จึงเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ในประเทศญี่ปุ่นการใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อซื้อสินค้าแฟชั่น และอาหารได้รับความนิยมสูงมาก แต่ประเทศไทยไม่ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งเพราะการขนส่งยังไม่เต็มรูปแบบ มีเพียงเจ้าเดียวที่ผูกตลาด คือ ไปรษณีย์ไทย ฝั่งญี่ปุ่นจะมี "Yamamoto" บริษัทนี้มีการขนส่งตั้งแต่ใช้เครื่องบินไปจนถึงรถคันเล็ก ๆ ที่เข้าได้ทุกซอกซอย มีระบบห้องเย็นทำให้ส่งอาหารได้สะดวก ที่สำคัญสินค้าของไทยยังขาด story หรือความมีเนื้อเรื่องของผลิตภัณฑ์ เช่น ทำขึ้นมาเป็น OTOP แต่ไม่รู้มาจากไหนอย่างไร ต่างจากญี่ปุ่นที่วัสดุทุกอย่างมีที่มา ทำให้สินค้าดึงดูดความสนใจมากกว่ารสชาติหรือดีไซน์เพียงอย่างเดียว ดังนั้น ก่อนก้าวเข้าสู่อีคอมเมิร์ซเต็มตัวผู้ค้าควรพัฒนาเรื่องนี้ด้วย
นอกจากนี้การขายของออนไลน์ ในประเทศไทยก็ยังขาดคุณสมบัติบางข้อ เมื่ออ้างอิงจากทฤษฎี 3L
• Long Page (ทำเว็บไซต์ที่ยาวกว่าปกติ)
• Live (ติดต่อกลับได้ทันที)
• Long Tail (เพิ่มสินค้าให้หลายหมวดหมู่)
เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซไทยเมื่อลูกค้าสนใจและต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกลับติดต่อไม่ได้ หรือบางครั้งเว็บไซต์ไม่ดึงดูดความสนใจผู้ซื้อ
รวมถึงเรื่องการใช้เดบิตการ์ด หรือบัตรเอทีเอ็มที่รูดซื้อของได้ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น ปัจจุบันมีกว่า 35 ล้านใบ เกือบทุกใบธนาคารพัฒนาระบบให้รูดซื้อของบนอินเทอร์เน็ตได้ ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการปั้นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสักแห่ง เพราะผู้บริโภคแทบจะพร้อม 100% แล้วผู้ค้ากลุ่มเอสเอ็มอีควรหันมาใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ รองรับการเปิดเสรีอาเซียนและต้องอย่าลืมสร้างสินค้าให้มีจุดเด่น
"ศิวัตร เชาวรียวงษ์" นายกสมาคมเว็บไทย กล่าวเสริมว่า การใช้อีคอมเมิร์ซปัจจุบันเพิ่มขึ้นเร็วมาก ถ้าจะเน้นตลาดนี้การประชาสัมพันธ์ต้องเป็นรูปแบบใหม่ คือใช้เสิร์ชและโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสร้างความสนใจ มองเห็นสินค้าและบริการของผู้ทำเว็บ นอกจากนี้ การใช้สื่อออนไลน์เพื่อติดต่อกับลูกค้ายังมีประโยชน์มากกว่าการใช้สื่อหลัก เช่น การนับจำนวนผู้สนใจได้ชัดเจนผ่านการคลิก หรือ Mention ชื่อเว็บนั้นไปสู่คนนอก ที่สำคัญขั้นตอนการใช้งานควรสั้นที่สุด หรืออยู่ในช่วงคลิกครั้งเดียว
ทั้งนี้การใช้งานดาราต่าง ๆ เป็นพรีเซ็นเตอร์ควบคู่ไปกับการทำตลาดบนโลกออนไลน์อีกด้วย ตัวอย่างที่ดีที่สุดไม่พ้นไอศกรีมยี่ห้อหนึ่งที่แจกสินค้าให้ดาราเพื่อโพสต์รูปคู่สินค้าบน Instragram ที่สุดแล้วทำให้สินค้าติดตลาด เพราะผู้คนหลายล้านได้เห็นสินค้าผ่านไทม์ไลน์ของดารา
"สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี" ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เพย์สบาย จำกัด กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินในอีคอมเมิร์ซเพียง 4 พันล้านบาท แต่ปีนี้น่าจะโตขึ้นเกือบเท่าตัว หรือ 7,000-10,000 ล้านบาท ปัจจัยหลักคือโทรศัพท์มือถือที่จะมีการใช้งานเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาถูกลง พร้อมระบบดาต้าที่เป็น 3G แบบ 2.1 GHz ทำให้ความเร็วสูงกว่าที่ใช้ปัจจุบันมาก หากเอสเอ็มอีรายใดไม่รีบปรับตัว โอกาสที่ร้านนั้นจะหายไปจากตลาดมีสูง หรือถ้าไม่หายไปการทำธุรกิจก็จะยากกว่าเดิม ผ่านการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
เชื่อว่าภายในไม่เกิน 5 ปีทุกรายจะขยับมาออนไลน์มากขึ้น ซึ่งระบบต่าง ๆ น่าจะเอื้อกับการซื้อของบนอีคอมเมิร์ซแล้ว รวมถึงระบบชำระเงิน ซึ่งอาจมีชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในไทยมากขึ้นก็ได้

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,814
วันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2556
http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=165886:-3--3&catid=123:2009-02-08-11-44-33&Itemid=491

Unless otherwise stated, the content of this page is licensed under Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0 License