บทความวันที่ 14 เมษายน 2556
จาก http://www.thaibizcenter.com/rss/page.asp?openurl=http%3A%2F%2Fwww.thaipost.net%2Fsunday%2F140413%2F72199
สรุปบทความ
ทีวีดิจิตอล "ปฏิรูปสื่อ จริงหรือ?"
ตั้งแต่มีข่าวการประมูลทีวีดิจิตอลนั้น ส่งผลทำให้เกิดเวทีเสวนาเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวกี่เวทีแล้ว แต่ละเวทีมีมุมมองความคิดคล้ายๆ กันว่า กสทช.จัดการประมูลดังกล่าว เพื่อต้องการ "ปฏิรูปสื่อ จริงหรือ?" หลายฝ่ายมองว่า การแบ่งสัดส่วนช่องสาธารณะนั้น เอื้อประโยชน์ต่อภาครัฐมากกว่าที่จะเป็นช่องสาธารณะเพื่อประชาชนจริงๆ
ล่าสุด กสทช.ประกาศอนุมัติช่องทีวีดิจิตอลสาธารณะ 4 ช่อง คือ ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ซึ่งได้ 2 ช่อง จากทั้งหมด 12 ช่อง ทำให้เหลือ 8 ช่อง อีกทั้งได้สิทธิ์ออกอากาศคู่ขนานกับระบบอะนาล็อกด้วย ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดความตะขิดตะขวงใจไม่น้อย เพราะที่ผ่านมา กสทช.ไม่เคยทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการจัดสรรช่องต่างๆ เลย แล้วประกาศที่ออกมา ใครเป็นคนจัดสรร?
ใครที่ยังสงสัยว่า 12 ช่องสาธารณะดังกล่าว มีอะไรบ้าง เอาง่ายๆ เลย คือ มันแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ช่อง 1-3 อนุญาตให้ช่อง 5 ช่อง 11 และไทยพีบีเอส ทำการออกอากาศคู่ขนานไปกับการออกอากาศแบบอะนาล็อกเดิม โดยยังไม่ต้องทำเงื่อนไขของช่องทีวีดิจิตอลใหม่ มีระยะเวลาเท่ากับสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เดิม ส่วนกลุ่มที่สองนั้น เป็นช่อง 4 -12 โดยได้กำหนดรายละเอียดวัตถุประสงค์การให้บริการโทรทัศน์ประเภททีวีสาธารณะ ประกอบด้วย
ช่อง 4 อนุญาตให้ไทยพีบีเอส ให้บริการประเภทรายการเด็ก เยาวชนและครอบครัว
ช่อง 5 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 1 สำหรับการออกอากาศในการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์
ช่อง 6 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 1 เป็นรายการด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ
ช่อง 7 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 1 เน้นรายการสุขภาพอนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
ช่อง 8 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 2 เน้นรายการเพื่อความมั่นคงของรัฐ
ช่อง 9 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 2 เน้นรายการเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ
ช่อง 10 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 3 ออกอากาศรายการข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างรัฐบาลกับประชาชน และรัฐสภากับประชาชน
ช่อง 11 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 3 ออกอากาศด้านข้อมูลข่าวสาร ส่งเสริม สนับสนุนเผยแพร่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ช่อง 12 ให้บริการทีวีสาธารณะประเภทที่ 3 เป็นรายการเสนอข้อมูลข่าวสารแก่คนพิการ คนด้อยโอกาส รวมถึงเด็ก เยาวชน หรือกลุ่มที่สนใจกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ
หลังจาก กสทช. จัดสรรโควตาช่องทีวีสาธารณะแล้ว บรรดานักวิชาการหลายท่านก็มาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าว
โดยนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และนายปิยบุตร บุญอร่ามเรือง รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญโทรคมนาคม และการกำกับดูแล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มาร่วมกันแสดงความคิดเห็นถึงกรณีทีวีดิจิตอล
๐ ผลกระทบต่อผู้บริโภค
นายสมเกียรติ : โดยหลักแล้ว การที่มีการแจกกล่องรับสัญญาณ หรือ Set top box ตามแผนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. นั้น ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคมีผลกระทบไม่เยอะ ท่านสามารถรับชมทีวีต่อไปได้ แม้ว่าจะเปลี่ยนเป็นดิจิตอล แต่ สิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันก็คือ การเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอลนั้น ควรจะเป็นโอกาสในการปฏิรูปโทรทัศน์ไทยให้พ้นจากปัญหาเดิมที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบัน คือมีทีวีภาครัฐที่มีความห่างไกลกับความเป็นสื่อสาธารณะที่ได้มาตรฐาน ก็ควรใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภค คือประชาชนหรือผู้ชมได้รับประโยชน์โดยตรง แต่หากกฎกติกาของ กสทช.ในการออกใบอนุญาต อย่างที่เคยเป็นข่าวคือ แจกใบอนุญาตให้แก่ช่อง 5 และช่อง 11 โดยอัตโนมัติ และจะมีช่องอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาจจะถูกหน่วยงานราชการเข้ามาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์น้อย แม้จะรับทีวีดิจิตอลได้ แต่รายการก็จะเป็นรายการที่ไม่ได้สอดคล้องกับความสนใจหรือประโยชน์ของผู้ บริโภค
นายปิยบุตร : สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจะเป็นในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนสังคมอาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนัก ถ้ารูปแบบยังเป็นไปตามที่ปรากฏตามข่าว มันมีประโยชน์สามด้าน คือ ด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม ด้านเศรษฐกิจก็จะเป็นเรื่องการแข่งขัน มีผู้ประกอบการรายใหม่มาร่วมด้วย ด้านสังคมคือ มีความหลากหลายทางความคิดเห็น คือเราจะได้เห็นผู้ประกอบการรายอื่นทำทีวีบ้าง คือสองอันนี้อาจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชัด หรืออาจจะเรียกว่าไม่มีเลย แต่ทางเทคโนโลยีนั้น มันเป็นประโยชน์แน่นอน คือเราได้ใช้ของใหม่ ใช้ของที่ดีกว่าเดิม
๐ การปรับตัวของผู้บริโภค
นายสมเกียรติ : ขณะนี้ผู้บริโภคยังไม่ต้องปรับตัวอะไร แต่หากมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลแล้ว การที่ผู้บริโภคต้องปรับตัวมีอยู่สองวิธี วิธีแรกคือ คนที่มีสตางค์มากหน่อยหรือคนที่กำลังจะเปลี่ยนโทรทัศน์ ก็ควรจะเปลี่ยนเป็นโทรทัศน์ที่สามารถรับระบบดิจิตอลได้เลย แต่ว่าคนที่ยังไม่อยากเปลี่ยนเป็นทีวีดิจิตอล ก็รอรับแจกกล่องรับสัญญาณ หรือ Set top box ก็จะสามารถรับชมได้ ก็ต้องติดตามข่าวสารมาตรการที่ กสทช.จะออกมา ว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้ให้ศึกษาว่าทีวีรุ่นไหน รับชมระบบดิจิตอลได้หรือไม่ได้ ซึ่ง กสทช.ควรจะต้องมีกฎในการกำหนดให้บริษัทผู้ผลิตโทรทัศน์ โฆษณาต่อผู้บริโภคอย่างถูกต้อง และมีความชัดเจนว่ารับระบบดิจิตอลได้หรือไม่ได้ ต้องติดฉลากให้ชัดเจน เป็นต้น
นายปิยบุตร : ตามที่ กสทช.แจ้งไว้ก็คือ ประชาชนต้องเตรียมเงินซื้อกล่องรับสัญญาณ หรือ Set Top Box ติดตามให้ดีกับวิธีที่ กสทช.จะอุดหนุน คือตามแผนของ กสทช.จะมีให้คูปองส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณ หากยังไม่เปลี่ยนแผนและยึดแผนนี้อยู่ ส่วนตัวคิดว่าคงให้พร้อมกันทุกคนไม่ได้ คงจะเป็นแบบมาก่อนได้ก่อน เดาว่าคงจะต้องเป็นประมาณนี้
๐ ความชัดเจนของ กสทช. ผลกระทบต่อการประมูล
นายสมเกียรติ : ต้องติดตามดูว่ากฎกติกาต่างๆ ที่ กสทช.ออกมามีความชัดเจนหรือไม่อย่างไร ที่ผ่านมาในกรณีของทีวีสาธารณะนั้น แต่เดิมตั้งใจจะออกใบอนุญาตโดยเร็ว แต่เนื่องจากกระบวนการดำเนินการมีขั้นตอนต่างๆ ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ก็จึงต้องเลื่อนไป ในกรณีของการประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลเชิงธุรกิจ ก็ต้องติดตามดูว่ากระบวนการต่างๆ ที่ออกมา ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ราคาคลื่นตั้งต้นการประมูล กำหนดอย่างถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งมันมีหลายประเด็น ก็ต้องดูว่าถ้าสามารถเตรียมการได้ดี ก็คงดำเนินการได้ตามกำหนดที่เคยประกาศไว้ แต่หากเตรียมการไว้ไม่ดี หรือมีปัญหา อาจจะเกิดความล่าช้าได้
นายปิยบุตร : โดยส่วนตัวอยากให้มีการเลื่อนประมูล แต่หากถ้ามีการเลื่อนจริงๆ คงจะเลื่อนออกไปไม่ไกล เพราะโดยปกติมติของ กสทช.จะ 3 ต่อ 2 มาตลอด เพราะฉะนั้นมันเลยเดินหน้ามาเรื่อยๆ อาจจะเลื่อนในบางประเด็น แต่โดยภาพใหญ่อาจจะไม่ได้เลื่อนอะไรมาก และอยากฝากถึงประชาชนว่า ควรติดตามข่าวสารเรื่องทีวีดิจิตอลให้ดี ถึงแม้ว่าจะมีเรื่องทางเทคนิค หรือเทคโนโลยีเข้ามามาก ทำให้บางครั้งอาจจะเข้าใจยากไปบ้าง ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่โดยหลักแล้ว คนที่จะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ก็คือประชาชนนั่นเอง
นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่า การเปลี่ยนผ่านระบบดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี หากการจัดสรรช่องดังกล่าว มีความโปร่งใสและยุติธรรม อย่าให้การออกใบอนุญาตช่องสาธารณะ 12 ช่อง เป็นรอยด่างของการปฏิรูปสื่อ ยิ่งนับวัน กระแสยิ่งแรงขึ้น ความชัดเจนยิ่งไกลออกไป ยิ่งเวลาผ่านไปมากเท่าไหร่ ยิ่งคลุมเครือ
วิเคราะห์บทความ
ทีวีดิจิทัล คือระบบการแพร่สัญญาณคลื่นโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (“terrestrial” ในที่นี้หมายความว่าไม่ได้ยิงสัญญาณออกนอกโลกเหมือนดาวเทียม) เหมือนกับระบบของฟรีทีวีในปัจจุบัน แต่เปลี่ยนวิธีการเข้ารหัสสัญญาณเป็นแบบดิจิทัลแทนระบบแอนะล็อก
ข้อดีของการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
-ให้ภาพที่คมชัดกว่าเดิม ใช้ช่วงคลื่นน้อยลงกว่าเดิมมาก และมีความสามารถอื่นๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกแก่ผู้รับชมทีวี เช่น มีผังรายการแสดงบนหน้าจอได้เลย เป็นต้น
-ผลิตรายการได้มากกว่า 1 รายการ (1 ช่อง) ในช่วงคลื่นเดิมที่ได้รับสัมปทานมา 7 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้ผู้ชมสามารถเลือกรับชมรายการที่ต้องการได้ อย่างเช่น ช่องข่าว ช่องกีฬา
-สามารถรับชมรายการทีวี ขณะเดินทางในรถยนต์โดยที่ภาพไม่กระตุกหรือปัญหาสัญญาณอ่อน มีความเสถียรมากกว่า รวมทั้งยังรองรับการใช้งานในรูปแบบสื่อผสมต่าง ๆ ได้มากมาย ทั้งสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต แตกต่างกับทีวีดาวเทียม ที่สัญญาณภาพจะต้องพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศ แถมยังมีข้อจำกัดในการถ่ายทอดสัญญาณภาพและเสียงที่ด้อยกว่ามาก ทำให้สามารถดูได้ทุกที่ไม่มีสะดุด
ข้อเสียของการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
-อย่างน้อยก็เงินในกระเป๋าเรานี้แหละ เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่มีระบบดิจิตอลเข้ามาแล้ว โทรทัศน์รุ่นเก่า รุ่นคลาสสิคสมัยคุณย่าคุณยายที่เก็บรักษาไว้และยังดูได้ในปัจจุบันคงมีอันต้องควักเงินซื้อโทรทัศน์รุ่นใหม่ แต่ถ้าไม่ซื้อโทรทัศน์ก็ต้องซื้อกล่องรับสัญญาณ (เซ็ต ท็อป บ๊อกซ์) เพื่อแปลงสัญญาณออกอากาศจากระบบดิจิทัลเป็นระบบอนาล็อกเข้าโทรทัศน์ของเราอยู่ดี
บทสรุปการแพร่สัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล
-การแพร่สัญญาณทีวีด้วยระบบดิจิทัลมีข้อดีกว่าระบบแอนะล็อกมาก และถือเป็นการใช้ความถี่ของประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในระยะยาว เพราะมีจำนวนช่องมากขึ้น และความถี่แอนะล็อกเดิมสามารถนำไปใช้ในกิจการอื่นได้
-ทีวีระบบดิจิทัลเป็นการเปลี่ยนรอบเทคโนโลยีตามปกติของทีวีระบบแอนะล็อกเดิม สถานีฟรีทีวีรายเดิมทุกรายจะเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างแน่นอน
-การเปลี่ยนมาใช้ทีวีดิจิทัลจะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนหน้าใหม่ๆ เข้ามาในอุตสาหกรรมสื่อมากขึ้น สร้างการแข่งขันแก่ผู้บริโภค และลดการผูกขาดสื่อทีวีลงจากเดิม
-การที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ทีวีระบบดิจิทัลช้า ทำให้เทคโนโลยีคู่แข่งอย่างเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียม มาแย่งฐานลูกค้าของทีวีดิจิทัลไปมากแล้ว มูลค่าของทีวีดิจิทัลอาจไม่มากอย่างที่คาดการณ์กัน
ผลกระทบของ “ทีวีดิจิทัล” ต่ออุตสาหกรรมทีวีของไทย
ต้องยอมรับว่า “ฟรีทีวี” (ในที่นี้คือ analog terrestrial television) มีสภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดโดยรัฐมายาวนานหลายสิบปี ในจำนวนฟรีทีวีทั้ง 6 ช่อง แบ่งได้เป็น
• ช่องของหน่วยงานรัฐ 3 ช่อง ได้แก่ ช่อง 5 (กองทัพบก) ช่อง 9 (อสมท.) และช่อง 11 (กรมประชาสัมพันธ์)
• ช่องที่หน่วยงานรัฐให้สัมปทานแก่เอกชน ได้แก่ ช่อง 3 (สัมปทานจาก อสมท. ให้กลุ่มบริษัท BEC) และช่อง 7 (กองทัพบกให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัท BBTV)
• ทีวีสาธารณะของหน่วยงานอิสระของรัฐ ได้แก่ Thai PBS
ทีวีเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย มีอัตราการเข้าถึงประชากร 98% (ตัวเลขอ้างอิงจากรายงานของ กสทช.) มากกว่าสื่อชนิดอื่นๆ อย่างวิทยุและหนังสือพิมพ์มาก เม็ดเงินเชิงพาณิชย์จำนวนมหาศาลจึงไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมทีวี และผู้ที่ได้รับความมั่งคั่งย่อมเป็นหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจควบคุมสถานีโทรทัศน์ของไทยทั้ง 5 ช่องนั่นเอง (ไม่นับรวม Thai PBS ที่อยู่ได้จากเงินภาษี ไม่รับโฆษณาจากภาคเอกชน)
กลุ่มทุนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากภาวะกึ่งผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีไทย ย่อมเป็น BEC และ BBTV ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับหน่วยงานผู้ให้สัมปทาน และพยายามกีดกันคู่แข่งรายอื่นๆ โดยใช้กลไกเรื่องสัมปทานเป็นเครื่องมือ และในเมื่อทีวีระบบแอนะล็อกจำเป็นต้องใช้ช่วงคลื่นที่กว้างมากในการแพร่ สัญญาณ ในทางเทคนิคจึงมีจำนวนสถานีได้ไม่มากนักเทียบกับความถี่ที่ประเทศไทยมีใช้ งานสำหรับกิจการโทรทัศน์
การมาถึงของเทคโนโลยีทีวีดิจิทัล มีบทบาทสำคัญต่อการสลายสภาพการผูกขาดของอุตสาหกรรมทีวีในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะข้อจำกัดเรื่องจำนวนช่องรายการ 6 ช่องที่อยู่กับประเทศไทยมานานจะหมดไป มติของคณะกรรมการ กสทช. ตัดสินแล้วว่าบนระบบทีวีแบบดิจิทัล จะมีช่องรายการทั้งหมด 48 ช่อง ซึ่งถือว่าเพิ่มมาจากเดิมถึง 8 เท่า หรือ 700% จากเดิม มีพื้นที่ให้กลุ่มทุนรายอื่นๆ เข้ามาเปิดสถานีได้ในที่สุด ดังนั้นในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นฟรีทีวีเดิมทั้ง 6 ช่องยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการดิจิทัลทีวีจาก กสทช. อย่างแน่นอน รวมไปถึงกลุ่มทุนสื่อรายใหญ่รายอื่นๆ ที่ย่อมไม่พลาดโอกาสทองนี้เช่นกัน
มูลค่าของทีวีดิจิทัล อาจไม่เยอะอย่างที่คิด
ทีวีดิจิทัลเป็นวิวัฒนาการของทีวีแบบแอนะล็อก โดยทำลายข้อจำกัดด้านจำนวนช่องและคุณภาพความคมชัดของสัญญาณในระบบแอนะล็อกไป ในต่างประเทศเริ่มใช้ทีวีระบบดิจิทัลกันมานานแล้ว และในประเทศพัฒนาแล้วหลายแห่ง เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็เปลี่ยนไปใช้ระบบดิจิทัล 100% แล้ว แต่กรณีของประเทศไทยนั้น หลังจากมีปัญหาไม่สามารถตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์อย่าง กสช. ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นเวลาถึงสิบกว่าปี ทำให้แผนการถ่ายทอดสัญญาณด้วยระบบดิจิทัลล่าช้าตามไปด้วย และเกิดสภาพ “คอขวด” ในอุตสาหกรรมโทรทัศน์ ที่ต้องพึ่งพาผู้ให้บริการฟรีทีวีระบบแอนะล็อกทั้ง 6 ช่องมาโดยตลอด
สภาพการแข่งขันแบบกึ่งผูกขาดทำให้กลุ่มทุนสื่ออื่นๆ ไม่สามารถแทรกตัวเข้ามาทำสถานีทีวีของตัวเองได้ และเมื่อเทคโนโลยีทีวีแบบไม่ใช้คลื่นความถี่อย่างเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และอินเทอร์เน็ตทีวีเริ่มพัฒนา กลุ่มทุนสื่อเหล่านี้จึงกระโจนเข้าไปทำทีวีช่องทางเลือกแทนการทำทีวีดิจิทัล ที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จเมื่อใด และถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ทีวีทางเลือกเหล่านี้จะไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทีวีทางเลือกพัฒนามากขึ้น มีช่องรายการที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น แถมมีข้อดีเหนือฟรีทีวีแบบแอนะล็อกในแง่ความคมชัดที่ดีกว่า ทำให้คนไทยจำนวนมากหันมาดูทีวีทางเลือกเหล่านี้แทน
ตัวเลขในปัจจุบัน (จากการสำรวจของ Neilsen) ระบุว่าสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ในประเทศไทยคือ
• ทีวีภาคพื้นดิน 45.8%
• เคเบิลทีวี 28.7%
• ทีวีดาวเทียม 25.5%
จะเห็นว่าทีวีภาคพื้นดินยังมีส่วนแบ่งเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้านับรวมเคเบิลทีวีกับทีวีดาวเทียมเข้าด้วยกัน กลับกลายเป็นว่าทีวีทางเลือกกลุ่มที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มีส่วนแบ่งมากกว่า ที่ 54.2% และตลาดก็มีแนวโน้มไปในทางทีวีกลุ่มไม่ใช้คลื่นมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ มา – รายงานการประเมินผลกระทบจากการออกหลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต การให้บริการโครงข่าย การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก และการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ของ กสทช.
ประชาชนคนไทยมีความต้องการรับชมทีวีที่หลากหลาย และมีความคมชัด ซึ่งเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้คือ ทีวีภาคพื้นแบบดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี แต่เมื่อทีวีดิจิทัลล่าช้าไปมาก ประชาชนจำนวนมากจึง “ยอมจ่าย” ค่าอุปกรณ์ทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีกันไปเยอะแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ต้องลงทุนในราคาสูงพอสมควร (เป็นหลักพันบาทขึ้นไป) และถ้าหากพิจารณาว่ากลุ่มทุนสื่อที่สามารถทำช่องทีวีได้ต่างมาทำทีวีดาว เทียมหรือเคเบิลทีวีกันหมดแล้ว นั่นแปลว่า รายการที่จะอยู่ในทีวีดิจิทัล ย่อมเป็นรายการจากเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมในปัจจุบันนั่นเอง
จุดเด่นของทีวีดิจิทัลในแง่ความแตกต่างของเนื้อหาจึงหายไปเกือบหมด เหตุเพราะรายการที่ฉายบนช่องดิจิทัลส่วนใหญ่จะเป็นรายการแบบเดียวกับที่หาดูได้ผ่านเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียม และเมื่อพิจารณาจากการย้ายไปดูทีวีระบบดิจิทัลต้องซื้อกล่องรับสัญญาณเพิ่ม เติม (ราคาน่าจะอยู่ราว 500-1,000 บาท ขึ้นกับนโยบายการสนับสนุนค่าอุปกรณ์ของ กสทช. ในอนาคต) ทำให้แรงจูงใจที่ประชาชนจะหันไปดูทีวีดิจิทัลมีลดลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทุนไปกับอุปกรณ์ทีวีดาวเทียมหรือเคเบิลทีวีอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทีวีดิจิทัลเป็นเส้นทางที่ประเทศไทยต้องมุ่งหน้าไปอยู่ดี ทีวีแอนะล็อกจะต้องถูกเลิกใช้ในที่สุด เพียงแต่จำนวนผู้ชมทีวีดิจิทัลอาจไม่เยอะอย่างที่คาดกัน เหตุเพราะมีเทคโนโลยีคู่แข่งทั้งเคเบิลและดาวเทียมเข้ามาแย่งชิงฐานผู้ชม (ที่อาจรับชมรายการเดียวกัน) ไปแล้วนั่นเอง
References
http://www.siamintelligence.com/thai-digital-tv-analysis/
http://hilight.kapook.com/view/67895
ผู้จัดทำ เกศริน คุ้มพุฒ 5510221029